วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

หลักการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545


           ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย  เป็นปัญหาวิกฤต  ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และคุณภาพประชากร โดยเฉพาะปัญหาจำนวนผู้เสพยาเสพติดที่มีจำนวนสูงขึ้น  และแพร่ระบาดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน  ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ  รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยใช้หลัก  "การป้องกันนำหน้าการปราบปราม  ผู้เสพต้องได้รับการรักษา และผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด"  จากนโยบายดังกล่าวถือว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากรจึงต้องได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ดีก่อนที่จะกล่าวถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัดจะขอกล่าวถึงระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในประเทศ โดยที่ผ่านมามี 2 ระบบ คือ
          ระบบที่ 1  การบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ  (Voluntary  System)  เป็นการเปิดโอกาสผู้ติดยาเสพติดซึ่งต้องการเลิกยา  สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน  ซึ่งในการดำเนินการที่ผ่านมาผู้เข้ารับการบำบัดรักษาส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องจนครบครั้น
          ระบบที่ 2  การบำบัดรักษาในระบบต้องโทษ (Correctional  System)  เป็นการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในทัณฑสถานบำบัดของกรมราชทัณฑ์สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  ซึ่งในการดำเนินการที่ผ่านมาสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพและเนื่องจากการควบคุมตัวร่วมกับผู้กระทำผิดคดีอื่นๆ  ทำให้ผู้ติดยาเรียนรู้พฤติกรรมอาชญากรรม  นอกจากนี้เมื่อผู้ติดยาเสพติดพ้นโทษก็จะมีประวัติอาชญากร  ซึ่งสังคมไม่ยอมรับทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพต่อไป
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทั้ง 2  ระบบดังกล่าว  จึงมีแนวคิดให้มีระบบการบังคับบำบัดขึ้น             ด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2534  แต่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยเหตุหลายประการ  ซึ่งต่อการกระทรวงยุติธรรมจึงได้มีการขอแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้มีความสมบูรณ์ในการบังคับใช้และให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  และได้มีการตราพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2549  ขึ้นใหม่ โดยมีผลยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมดังกล่าวข้างต้น  ซึ่งได้ประกาศให้ราชกิจจานุเบกษา  ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119  ตอนที่ 96 ณ  ลงวันที่  30  กันยายน  2545  และมีผลบังคับในวันที่ 1  ตุลาคม  2545 


          โดยมีหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้  คือ โดยที่ปัญหาเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษในปัจจุบันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ซึ่งโดยหลักการแล้วผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง  มิใช่อาชญากรปกติ  การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง  และโดยที่ผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเพื่อแลกกับการได้ยาเสพติดไปเสพด้วย  สมควรขยายขอบเขตของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมถึงผู้เสพและมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  และผู้เสพและจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยด้วย  นอกจากนั้นเนื่องจากบุคคลซึ่งติดหรือเสพยาเสพติดมีจำนวนมากและเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ  สมควรขยายสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดและสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  เพราะนอกจากมีหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมแล้วยังมีหน่วยงานอื่นของรัฐ  และหน่วยงานเอกชนที่มีขีดความสามารถเข้ามาร่วมในการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของบุคคลดังกล่าว  อาทิเช่น  สถานที่ของหน่วยงานในราชการทหาร            เขต  อำเภอ  และกิ่งอำเภอ   สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  สถานพยาบาลของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น  ซึ่งสมควรรวมทรัพยากรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



การแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์

การแก้ไขฟื้นฟู/บริการ
          เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเจตคติและ/หรือพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมโดยพนักงานคุมประพฤติจะคอยดูแล สอดส่อง ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งทางด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน



         วิธีการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยา ได้แก่ การให้คำปรึกษาหรือการให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติและครอบครัว การพัฒนาศักยภาพโดยการเพิ่มพูนความรู้ การปรับเปลี่ยนเจตคติและ/หรือพฤติกรรม และการทำงานบริการสังคม ส่วนวิธีการให้ความช่วยเหลือทางด้านสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ การส่งเสริมด้านการศึกษา ด้านการฝึกวิชาชีพ ด้านการมีงานทำ ด้านการยืมทุนประกอบอาชีพ การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์ค่าอาหารหรือค่าพาหนะ ทั้งนี้ วิธีการให้ความช่วยเหลือหรือการแก้ไขฟื้นฟูนั้น สามารถดำเนินการแบบรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มได้ตามความเหมาะสม บทความนี้จะกล่าวถึงการแก้ไขฟื้นฟูหรือการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยาเป็นหลัก ดังนี้


         การเปลี่ยนแปลงเจตคติและ/หรือพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤตินั้น เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า ยังไม่ครอบคลุมหรือเพียงพอต่อการที่ผู้ถูกคุมความประพฤติจะอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมได้ จึงควรเพิ่มอีก 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านสติปัญญาและคุณธรรม ส่วนด้านเจตคตินั้น รวมถึงทักษะในการทำงานและการดำเนินชีวิต


         การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวนั้น ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่ต้องอาศัยหลาย ๆ กิจกรรมต่อเนื่องกัน เพื่อผลักดันหรือสร้างความตระหนักให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด กิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมซึ่งนำมาร้อยเรียงกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน และระบุเทคนิคหรือวิธีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เรียกว่า หลักสูตรหรือโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือ คำว่ามาตรการแทรกแซง (Intervention) หมายถึง โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู บวกด้วยมาตรการแทรกแซงอื่น ๆ สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติรายนั้น ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติอยู่ในสังคมโดยปกติสุข ตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นผู้ถูกคุมความประพฤติคดีติดยาเสพติด ต้องเข้าร่วมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ติดยาเสพติด และต้องได้รับการแทรกแซงเฉพาะสำหรับ นาย ก. ได้แก่ การบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติดจาญโรงพยาบาลธัญญรักษ์ ซึ่งรวมถึงการสงเคราะห์ค่าบำบัดรักษาในฐานะผู้ป่วยใน การให้คำปรึกษารายบุคคล การส่งเสริมการฝึกวิชาชีพ การยืมทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนการสงเคราะห์ค่าอาหารและค่าพาหนะในระหว่างการคุมความประพฤติด้วย เป็นต้น


 

ความรู้ด้านงานคุมประพฤติ

งานสืบเสาะ
          ความหมายของการสืบเสาะและพินิจผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติผู้ใหญ่ผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้กระทำความผิดที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปการสืบเสาะและพินิจผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริง ประวัติภูมิหลังทางสังคม และรายละเอียดหลักฐานต่างๆ ของจำเลย ก่อนศาลพิจารณาพิพากษาคดี โดยพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาล แล้วนำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ ประเมินและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อใช้ประกอบดุลยพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมต่อจำเลย


วัตถุประสงค์ของการสืบเสาะและพินิจผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติผู้ใหญ่
1) เพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับประวัติและภูมิหลังทางสังคมของจำเลยว่า จะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมต่อจำเลยเป็นรายบุคคล
2) เพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก
3) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน


งานสอดส่อง

ความหมาย
       การควบคุมและสอดส่องเป็นกระบวนการติดตาม ควบคุม ดูแล และช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่อยู่ระหว่างการแก้ไขฟื้นฟูในชุมชนภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดสามารถปรับตัวอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติ ตลอดจนไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

วัตถุประสงค์ของการควบคุมและสอดส่อง
1.เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดตามสภาพปัญหาและความต้องการ
2.เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้สามารถดำเนินชีวิตและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ
3.เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชุมชน


วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภารกิจกรมคุมประพฤติ

ความเป็นมางานคุมประพฤติ
          การคุมประพฤติเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ด้วยวิธีการไม่ควบคุมตัว โดยการกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ การคุมประพฤติจึงเป็นวิธีการที่เปลี่ยนแนวความคิดจากวิธีการลงโทษมาเป็นวิธีการบำบัดฟื้นฟู และจากการลงโทษจำคุกมาเป็นการเลี่ยงโทษจำคุก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยดูแลช่วยเหลือ ให้บุคคลดังกล่าวสามารถแก้ไขปรับปรุงนิสัยและความประพฤติของตน ภายใต้การช่วยเหลือของชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรมและการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้สามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติได้อย่างชัดเจนงานคุมประพฤติเป็นงานที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทั้งก่อนพิพากษาคดีของศาล หลังการพิพากษาคดี และในกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาระยะเวลาหนึ่ง และได้รับโอกาสการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ ผู้ต้องขังรายดังกล่าวก็จะต้องถูกคุมความประพฤติไว้เช่นกัน ในการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนดังกล่าวมีพนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) เป็นผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการที่จะทำให้การแก้ไขฟื้นฟูบรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงจะต้องประกอบด้วย กระบวนการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงและท่ำความเห็นเกี่ยวกับจำเลย (Social Investigation) และกระบวนการควบคุมและสอดส่ง (Supervision) ซึ่งพนักงานคุมประพฤติ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือดูแลผู้กระทำผิดนั้นๆ โดยการนำทรัพยากรในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเรียกว่า งานกิจกรรมชุมชน (Community Affairs) โดยมุ่งหวังให้ผู้กระทำผิดกลับตนเป็นพลเมืองดีและกลับคืนสู่ชุมชนอย่างมีคุณค่าต่อไป



นโยบายอธิบดีกรมคุมประพฤติ

นโยบายอธิบดี
   แนวทางการดำเนินงานของกรมคุมประพฤติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อให้การดำเนินงานของกรมคุมประพฤติบรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นมืออาชีพในการป้องกันสังคม โดยการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ.๒๕๕๗” ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ กรมคุมประพฤติจึงได้กำหนดกรอบทิศทางในการทำงาน ดังนี้
       ๑. ด้านโครงสร้าง
การแบ่งเขตพื้นที่ของกรมคุมประพฤติ ให้กำหนดเขตพื้นที่ความรับผิดชอบตามหน่วยงาน
กระบวนการยุติธรรมเป็น ๙ ภาค โดยให้สำนักงานคุมประพฤติที่เป็นที่ตั้งสำนักงานภาคเดิม 9 แห่ง เป็นผู้ประสานงานภายในภาค และให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้สอดส่องดูแลร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด ส่วนสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพ และธนบุรี ให้พัฒนาการประสานงาน การดำเนินงานเพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันและร่วมมือกันมากขึ้น
      ๒. ด้านระบบงาน
           ๒.๑ งาน/โครงการต่างๆ ของทุกหน่วยงานต้องสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของกรม โดย
เน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นฐานให้มากขึ้น และต้องมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม ในทุกงาน/โครงการ เพื่อให้แสดงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนทุกโครงการ
          ๒.๒ การดำเนินงานในส่วนภูมิภาคควรเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของกรมคุมประพฤติและจังหวัดเข้าด้วยกัน โดยมีการบูรณาการทรัพยากรชุมชน เพื่อเสริมงบประมาณและบุคลากรจากส่วนกลาง
          ๒.๓ ทุกหน่วยงานต้องมีการกำหนดแผนการทำงานเป็นระยะความสำเร็จ (miles stone) ของแต่ละปี โดยกำหนดตัวชี้วัดการทำงานที่เป็นจริง ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของงานและการพัฒนางานในระยะต่อไปตามแผนงาน
    ๓. การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
         ๓.๑ พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในกระบวนงานและการบริหารจัดการหน่วยงานให้มากขึ้นใน
ทุกระดับ
         ๓.๒ พัฒนากลไกและวิธีดำเนินงาน ตลอดจนโครงการและกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติและเครือข่ายยุติธรรมชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
    ๔. การพัฒนาบุคลากร
         ๔.๑ เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการพัฒนาค่านิยมหลักของกรมคุมประพฤติที่มุ่งเน้นให้
บุคลากรทุกระดับมีความสามารถในการนำ (leadership) รักองค์กร (loyalty) มีความซื่อสัตย์ (honesty) ให้โอกาสเท่าเทียมกัน (equal opportunity) และได้รับผลตอบแทนตามผลงาน (merit) ซึ่งถือเป็นหลักการทำงานของทุกคน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกรมคุมประพฤติ
       ๔.๒ ส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาวะ โดยให้กรมคุมประพฤติเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (flexible)
บริหารงานโดยผ่านกระบวนการ (process) ที่ทำงานเป็นทีมไม่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (function) เป็นหลัก


 เรื่องมุ่งเน้น
         การบริหารจัดการกรมคุมประพฤติ จะใช้กระบวนการจัดการความรู้ (knowledge management) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของงาน การพัฒนาบุคลากร และนำกรมคุมประพฤติสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งบุคลากรทุกคนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน โดยมุ่งเน้นการเป็นชุมชนนักปฏิบัติ การศึกษาดูงาน การถอดบทเรียน การค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ การสอนงาน และบทเรียนจากความผิดพลาดเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมร่วม

วิสัยทัศน์
"เป็นมืออาชีพในการป้องกันสังคม โดยการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน
เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ.2557"



พันธกิจ
       1. แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด และติดตามช่วยเหลือภายหลังปล่อยให้กลับคืนเป็นพลเมืองดีของสังคม
       2. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และภาคีเครือข่าย ในการดูแล แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำผิด



 ค่านิยมร่วม
      ในการดำเนินงานของกรมคุมประพฤติ เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลสูงสุดในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ป้องกันสังคมออกจากอาชญากรรมบุคลากรของกรมคุมประพฤติจะต้องมีค่านิยมร่วมกัน

ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม
โปร่งใส ตรวจสอบได้
ตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
มีความศรัทธา ภาคภูมิในวิชาชีพ และรักการให้บริการ
รับผิดชอบต่อหน้าที่
ทำงานเป็นทีม
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักการเรียนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง




ความเป็นมากรมคุมประพฤติ

          

             ประเทศไทยเริ่มมีการนำระบบคุมประพฤติมาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยมาใช้กับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนก่อน ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่นั้น แม้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 56, 57 และ58 จะได้บัญญัติถึงวิธีการเกี่ยวกับการคุมประพฤติไว้ แต่อย่างไรก็ตามศาลคงใช้มาตรการรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้วิธีการคุมความประพฤติ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบ ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลได้

          จนกระทั่งรัฐบาลได้ผ่านพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 และได้มีการจัดตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกอง สังกัดสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม และได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522 โดยดำเนินการในกรุงเทพมหานครก่อน จนปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ และเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ให้ได้รับประโยชน์จากวิธีการคุมความประพฤติ จึงได้มีการเปิดดำเนินการสำนักงานคุมความประพฤติในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ

            เนื่องจากมีการขยายงานออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น จึงให้สำนักงานคุมประพฤติกลางมีปริมาณงาน ขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน สำนักงานคุมประพฤติกลางจึงได้รับการ ยกฐานะให้เป็น "กรมคุมประพฤติ" เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 และพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่ และกิจการบริหารบางส่วนของ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรมไปเป็นของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2535 ดัง นั้น วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี จึงถือเป็น "วันก่อตั้งกรมคุมประพฤติ"