วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

หลักการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545


           ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย  เป็นปัญหาวิกฤต  ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และคุณภาพประชากร โดยเฉพาะปัญหาจำนวนผู้เสพยาเสพติดที่มีจำนวนสูงขึ้น  และแพร่ระบาดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน  ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ  รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยใช้หลัก  "การป้องกันนำหน้าการปราบปราม  ผู้เสพต้องได้รับการรักษา และผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด"  จากนโยบายดังกล่าวถือว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากรจึงต้องได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ดีก่อนที่จะกล่าวถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัดจะขอกล่าวถึงระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในประเทศ โดยที่ผ่านมามี 2 ระบบ คือ
          ระบบที่ 1  การบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ  (Voluntary  System)  เป็นการเปิดโอกาสผู้ติดยาเสพติดซึ่งต้องการเลิกยา  สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน  ซึ่งในการดำเนินการที่ผ่านมาผู้เข้ารับการบำบัดรักษาส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องจนครบครั้น
          ระบบที่ 2  การบำบัดรักษาในระบบต้องโทษ (Correctional  System)  เป็นการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในทัณฑสถานบำบัดของกรมราชทัณฑ์สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  ซึ่งในการดำเนินการที่ผ่านมาสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพและเนื่องจากการควบคุมตัวร่วมกับผู้กระทำผิดคดีอื่นๆ  ทำให้ผู้ติดยาเรียนรู้พฤติกรรมอาชญากรรม  นอกจากนี้เมื่อผู้ติดยาเสพติดพ้นโทษก็จะมีประวัติอาชญากร  ซึ่งสังคมไม่ยอมรับทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพต่อไป
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทั้ง 2  ระบบดังกล่าว  จึงมีแนวคิดให้มีระบบการบังคับบำบัดขึ้น             ด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2534  แต่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยเหตุหลายประการ  ซึ่งต่อการกระทรวงยุติธรรมจึงได้มีการขอแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้มีความสมบูรณ์ในการบังคับใช้และให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  และได้มีการตราพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2549  ขึ้นใหม่ โดยมีผลยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมดังกล่าวข้างต้น  ซึ่งได้ประกาศให้ราชกิจจานุเบกษา  ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119  ตอนที่ 96 ณ  ลงวันที่  30  กันยายน  2545  และมีผลบังคับในวันที่ 1  ตุลาคม  2545 


          โดยมีหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้  คือ โดยที่ปัญหาเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษในปัจจุบันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ซึ่งโดยหลักการแล้วผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง  มิใช่อาชญากรปกติ  การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง  และโดยที่ผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเพื่อแลกกับการได้ยาเสพติดไปเสพด้วย  สมควรขยายขอบเขตของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมถึงผู้เสพและมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  และผู้เสพและจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยด้วย  นอกจากนั้นเนื่องจากบุคคลซึ่งติดหรือเสพยาเสพติดมีจำนวนมากและเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ  สมควรขยายสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดและสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  เพราะนอกจากมีหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมแล้วยังมีหน่วยงานอื่นของรัฐ  และหน่วยงานเอกชนที่มีขีดความสามารถเข้ามาร่วมในการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของบุคคลดังกล่าว  อาทิเช่น  สถานที่ของหน่วยงานในราชการทหาร            เขต  อำเภอ  และกิ่งอำเภอ   สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  สถานพยาบาลของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น  ซึ่งสมควรรวมทรัพยากรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น