วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภารกิจกรมคุมประพฤติ

ความเป็นมางานคุมประพฤติ
          การคุมประพฤติเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ด้วยวิธีการไม่ควบคุมตัว โดยการกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ การคุมประพฤติจึงเป็นวิธีการที่เปลี่ยนแนวความคิดจากวิธีการลงโทษมาเป็นวิธีการบำบัดฟื้นฟู และจากการลงโทษจำคุกมาเป็นการเลี่ยงโทษจำคุก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยดูแลช่วยเหลือ ให้บุคคลดังกล่าวสามารถแก้ไขปรับปรุงนิสัยและความประพฤติของตน ภายใต้การช่วยเหลือของชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรมและการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้สามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติได้อย่างชัดเจนงานคุมประพฤติเป็นงานที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทั้งก่อนพิพากษาคดีของศาล หลังการพิพากษาคดี และในกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาระยะเวลาหนึ่ง และได้รับโอกาสการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ ผู้ต้องขังรายดังกล่าวก็จะต้องถูกคุมความประพฤติไว้เช่นกัน ในการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนดังกล่าวมีพนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) เป็นผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการที่จะทำให้การแก้ไขฟื้นฟูบรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงจะต้องประกอบด้วย กระบวนการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงและท่ำความเห็นเกี่ยวกับจำเลย (Social Investigation) และกระบวนการควบคุมและสอดส่ง (Supervision) ซึ่งพนักงานคุมประพฤติ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือดูแลผู้กระทำผิดนั้นๆ โดยการนำทรัพยากรในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเรียกว่า งานกิจกรรมชุมชน (Community Affairs) โดยมุ่งหวังให้ผู้กระทำผิดกลับตนเป็นพลเมืองดีและกลับคืนสู่ชุมชนอย่างมีคุณค่าต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น