วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์

การแก้ไขฟื้นฟู/บริการ
          เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเจตคติและ/หรือพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมโดยพนักงานคุมประพฤติจะคอยดูแล สอดส่อง ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งทางด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน



         วิธีการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยา ได้แก่ การให้คำปรึกษาหรือการให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติและครอบครัว การพัฒนาศักยภาพโดยการเพิ่มพูนความรู้ การปรับเปลี่ยนเจตคติและ/หรือพฤติกรรม และการทำงานบริการสังคม ส่วนวิธีการให้ความช่วยเหลือทางด้านสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ การส่งเสริมด้านการศึกษา ด้านการฝึกวิชาชีพ ด้านการมีงานทำ ด้านการยืมทุนประกอบอาชีพ การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์ค่าอาหารหรือค่าพาหนะ ทั้งนี้ วิธีการให้ความช่วยเหลือหรือการแก้ไขฟื้นฟูนั้น สามารถดำเนินการแบบรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มได้ตามความเหมาะสม บทความนี้จะกล่าวถึงการแก้ไขฟื้นฟูหรือการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยาเป็นหลัก ดังนี้


         การเปลี่ยนแปลงเจตคติและ/หรือพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤตินั้น เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า ยังไม่ครอบคลุมหรือเพียงพอต่อการที่ผู้ถูกคุมความประพฤติจะอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมได้ จึงควรเพิ่มอีก 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านสติปัญญาและคุณธรรม ส่วนด้านเจตคตินั้น รวมถึงทักษะในการทำงานและการดำเนินชีวิต


         การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวนั้น ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่ต้องอาศัยหลาย ๆ กิจกรรมต่อเนื่องกัน เพื่อผลักดันหรือสร้างความตระหนักให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด กิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมซึ่งนำมาร้อยเรียงกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน และระบุเทคนิคหรือวิธีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เรียกว่า หลักสูตรหรือโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือ คำว่ามาตรการแทรกแซง (Intervention) หมายถึง โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู บวกด้วยมาตรการแทรกแซงอื่น ๆ สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติรายนั้น ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติอยู่ในสังคมโดยปกติสุข ตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นผู้ถูกคุมความประพฤติคดีติดยาเสพติด ต้องเข้าร่วมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ติดยาเสพติด และต้องได้รับการแทรกแซงเฉพาะสำหรับ นาย ก. ได้แก่ การบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติดจาญโรงพยาบาลธัญญรักษ์ ซึ่งรวมถึงการสงเคราะห์ค่าบำบัดรักษาในฐานะผู้ป่วยใน การให้คำปรึกษารายบุคคล การส่งเสริมการฝึกวิชาชีพ การยืมทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนการสงเคราะห์ค่าอาหารและค่าพาหนะในระหว่างการคุมความประพฤติด้วย เป็นต้น


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น